เมื่อลูกก้าวร้าวเราต้องทำอย่างไร

พฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ไม่ปลื้ม

เด็กแต่ละคนมีนิสัย และพฤติกรรมแตกต่างกันออกไป แต่พฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ไม่ปลื้มเอาเสียเลยก็เห็นจะเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ปัญหาด้านพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ ดังนั้นวันนี้มาดูการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกด้วยกันเลย

ก่อนอื่นมารู้จักกับพฤติกรรมความก้าวร้าวกันก่อน พฤติกรรมก้าวร้าว (Aggressive Behavior) เป็นพฤติกรรมที่ทำร้ายหรือมุ่งทำร้ายผู้อื่น ซึ่งหมายรวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ความก้าวร้าวทางวาจา การกลั่นแกล้ง การต่อสู้ ทำร้ายร่างกาย ปล้น ข่มขืน และฆาตกรรม เป็นต้น ซึ่งความก้าวร้าวนั้นสามารถปรากฏได้ในหลายรูปแบบ และมักจะมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว

  1. ปัจจัยทางชีวภาพ คือ โครงสร้างทางสมองและระดับของสารเคมีที่ทำหน้าที่นำสัญญาณประสาทในสมอง ซึ่งจะมีผลต่อพื้นอารมณ์ของเด็กแต่ละคนทำให้เป็นคนใจร้อน หรือใจเย็น
  2. ปัจจัยทางด้านจิตใจ ได้แก่ ลักษณะบุคลิกภาพของเด็กที่เกิดจากการเลี้ยงดู ทำให้เกิดมีความมั่นคงทางด้านอารมณ์สูงหรือต่ำ มีความอดทนรอคอยได้มากหรือน้อย หรือเด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยการตามใจเอาแต่ใจตัวเองมักมีปัญหาในด้านนี้
  3. ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ตัวอย่างพฤติกรรมก้าวร้าวในครอบครัว ตัวอย่างพฤติกรรมก้าวร้าวผ่านทางสื่อ นอกจากนี้พฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กบางรายยังอาจเกิดจากปัญหาทางด้านจิตใจ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากจิตแพทย์

วิธีป้องกัน และแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าว

  1. ผู้ใหญ่ต้องหยุดการกระทำอันก้าวร้าวของเด็กโดยทันที และต้องไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงเพราะเป็นการสอนให้เด็กเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว
  2. แนะนำทางออกอื่นให้เด็ก เช่น เมื่อเด็กโกรธกันขึ้นมา ก็สามารถเดินมาบอกผู้ใหญ่ให้ว่ากล่าวคู่กรณีได้ แต่ตีกันไม่ได้ เด็กจะเรียนรู้ว่า การก้าวร้าวเป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ แต่เราเข้าใจความรู้สึกเขา และเตรียมทางออกที่เหมาะสมเอาไว้ให้แล้ว
  3. ไม่ควรตอบตกลง หรือต่อรองกันในขณะที่เด็กมีอารมณ์หรือพฤติกรรมก้าวร้าว เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่า ผู้ใหญ่จะตอบสนองความต้องการของเขา เฉพาะในช่วงที่อารมณ์สงบ และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเท่านั้น
  4. การลงโทษเด็กไม่ควรใช้ความรุนแรง อาจใช้วิธีแยกเด็กอยู่ตามลำพังระยะหนึ่งโดยมีการสื่อให้เด็กเข้าใจว่า การรบกวนผู้อื่นเป็นสิ่งไม่สมควร เมื่อสงบแล้วค่อยมาพูดจากันใหม่ บางครั้งอาจใช้วิธีงดสิทธิบางอย่างเข้าร่วมด้วย
  5. ฝึกให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตนเอง เช่น ซ่อมแซมของที่ชำรุดเสียหาย
  6. หลีกเลี่ยงการตำหนิ ต่อว่า เปรียบเทียบ ให้เด็กรู้สึกเป็นปมด้อย การขู่หรือหลอกให้กลัว ตลอดจนการยั่วยุให้โกรธ โดยผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างของความปรองดอง เป็นมิตรต่อกันให้เด็กเห็น