ทำอย่างไรเมื่อเจอเด็กดื้อ

พฤติกรรมของเด็กในสมัยนี้

เด็กในปัจจุบันแต่งต่างจากเด็กเมื่อก่อนมาก ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้พฤติกรรมของเด็กในสมัยนี้แตกต่างออกไป หลักๆก็คือโทรศัพท์ ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก จนทำให้ครอบครัวไม่มีการปฏิสัมพันธ์กัน ต่างคนต่างเล่นมือถือ แต่นั่นจะส่งผลเสียทางอ้อมให้กับเด็ก โดยเฉพาะความเอาแต่ใจ และดื้อจนเกินไป 

ความดื้อ เป็นพฤติกรรมที่อยู่ในเด็กทุกคน ถ้าเป็นการดื้อตามวัยก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ถ้าหากเด็กคนไหนที่ดื้อเกินไปผู้ใหญ่จำเป็นต้องมีวิธีการที่จะแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมที่เหมาะสมและสามารถควบคุมตัวเอง ให้มีความประพฤติที่สังคมยอมรับได้โดยไม่ต้องอาศัยผู้ใหญ่คอยควบคุมในเวลาต่อมา ซึ่งพ่อแม่หรือผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงวิธีจัดการกับพฤติกรรมที่ดื้อของเด็ก วันนี้จะขอนำเสนอวิธีการรับมือกบเด็กดื้อให้ได้ผล 

1.การใช้เหตุผล 

ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ การใช้เหตุผลจะเป็นสิ่งที่ช่วยอธิบายและได้รับการยอมรับมากขึ้น การให้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมาซึ่งเด็กสามารถเข้าใจ มักจะสามารถแก้ไขพฤติกรรมได้ในเด็กยิ่งเล็กการให้เหตุผลต้องแบบง่าย สั้น ไม่พูดยืดยาว เช่น ถ้าปีนขึ้นที่สูงจะทำให้ตกลงเจ็บ

2.ใส่ใจและเพิ่มปริมาณการชื่นชมพฤติกรรมที่ดี 

โดยทั่วไปแล้ว เด็กจะมีจุดอ่อนอยู่ 2 เรื่อง คือ ต้องการคนชม และต้องการคนสนใจ ถ้าเราสนใจและชมเขาในสิ่งดีที่เขาทำบ่อยๆ ให้มากเท่าที่ทำได้ เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว เพื่อให้พฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นอีกไม่หายไป ผู้ใหญ่ควรให้รางวัลสำหรับพฤติกรรมนั้น อาจเป็นการกล่าวชมด้วยวาจา แสดงกิริยาชื่นชมพอใจในพฤติกรรมนั้น ทุกครั้งที่ชมจะเป็นเครื่องยืนยันว่า หนูทำถูกต้องแล้ว ทำต่อไปนะแม้แต่เด็กที่ดื้อ ซน ก้าวร้าว พฤติกรรมก็จะดีขึ้นๆ จนกลายเป็นเด็กน่ารักในที่สุด

3.ใช้ท่าทีที่หนักแน่นและจริงจัง

เวลาที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กทำอะไรแล้วเด็กอิดเอื้อน ไม่ยอมทำ วิธีหนึ่งที่ได้ผลคือต้องพูดให้หนักแน่นและจริงจังว่าให้ทำเดี๋ยวนี้ อาจต้องใช้ท่าทีประกอบด้วย เช่น ลุกขึ้นจูงมือเด็กให้ไปทำสิ่งที่ต้องทำเป็นต้น

4.เวลาลูกโกรธให้รับฟัง

เมื่อลูกโกรธให้พยายามทำให้เขารู้ว่าเรารู้ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร ขณะลูกอาละวาด ระงับเหตุก่อน อย่าดุไปสอนไป การแสดงออกที่เหมาะสม จะต้องเป็นไปตามกติกา ข้อตกลง อย่างเช่น เมื่อลูกเริ่มมีท่าทีโกรธ พ่อแม่ต้องยอมรับความรู้สึกของลูก เมื่อพ่อแม่รับฟังความรู้สึกของเขาจะผ่อนอารมณ์ของลูกลงได้ ถ้าลูกหาทางออกไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่อาจเสนอทางเลือกให้ลูก จะดีกว่าออกคำสั่ง เพราะลูกจะเต็มใจมากกว่าถูกบังคับให้ทำ